top of page

รู้จักการลงฟรีไดฟ์ที่ระดับต่างๆกัน How to descend from 0 – 3 – 5 – 10 – 20 – 30m


ปัญหาสุดคลาสสิคอย่างหนึ่งที่ Freediver ต้องเจอ คือ อยากลงได้ลึกที่ระดับที่ต้องการ แต่ทำไมมันลงไม่ได้ หลายคนซ้อมแล้วซ้อมอีกที่สระ 3-5เมตร พอมาสอบที่ทะเล ก็ยังลงไปที่ 10 เมตร 20เมตร 30เมตร ไม่ได้ เพราะอะไร? ไม่เข้าใจจริงๆ.. วันนี้จะเล่าให้ฟังครับ

การฟรีไดฟ์ที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้เริ่มที่ความลึกที่เราตั้งใจจะไปถึง (Targeted Depth) แต่เริ่มที่ผิวน้ำครับ ร่างกายเราพร้อมหรือไม่พร้อม เราดูกันตั้งแต่ที่ผิวน้ำ เพราะการจะลงได้ หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลัก คือ

1. สภาพร่างกายของเราเอง (Body Readiness)

2. ความดันของน้ำ (Pressure)

และ 3. การปรับสภาพการจมลอยของร่างกาย (Buoyancy)

ซึ่งระหว่างการดำน้ำ ทั้ง 3 อย่าง ‘เกี่ยวพันกันหมด’

เล่ามาถึงตรงนี้ ใครมองว่า Freedive ง่ายกว่า SCUBA คงเริ่มพอเดาได้ ว่าไม่น่าจะใช่เลย..

จะลงให้ได้ลึก ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนครับ ว่าแต่ละระดับความลึก ตัวแปรทั้ง 3ตัว ส่งผลต่อตัวเลขของระดับความลึกแตกต่างกันนะครับ

เริ่มต้นที่ 0 เมตร

สภาพร่างกายของเราต้อง ‘พร้อม’ จิตใจพร้อม ไม่กังวล ไม่เหนื่อย ไม่ป่วย ไม่เครียด ไม่กังวลนะครับ

เครียดก็ลงไม่ได้ ทุกอย่างจะรวนหมด ป่วย(โดยเฉพาะเป็นหวัด)ก็ลงไม่ได้ หรือลงได้ยาก เพราะถ้าเคลียร์หูได้ยากตั้งแต่จุดเริ่มต้น ถึงบี้ลงไปได้ พอลงไปลึกหน่อยก็จะสะดุดไม่รู้ตัว แล้วคิดไปเอง ว่าทำไม่ได้

ที่จุดระดับน้ำทะเลจุดนี้ เราเริ่มต้นหายใจอย่างถูกวิธีตามที่เรียนมา ไม่ควรก้มหน้าหายใจนานเกินไปจนเกิดภาวะที่เรียกว่า over-breathing หรือ hyperventilation ซึ่งแน่นอน การหายใจนานเกินไปเกิดได้บ่อย บางทีมัวแต่รอ หรือ ลอยตัวลอยใจชมวิวรอเพื่อนขึ้นมาจนเราไม่ได้ลงซักที อีกอย่าง จุดนี้เป็นจุดที่หายใจสบายที่สุด (Pressure) เพราะเป็นการหายใจที่ระดับน้ำทะเล (1 atm) ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากแต่ละไดฟ์ ทำให้เรามีโอกาสเผลอหายใจนานเกินไป หรือ รอครู รอเพื่อนนานเกินไปไม่ได้ลงซักที

จุดที่อยู่ผิวน้ำ สำหรับมือใหม่ คือจุดที่เราควรมีระดับการจมลอยเป็น +เล็กๆ (positive buoyancy) ลองคิดเล่นๆดู ตอนซ้อมในสระ(จะกี่เมตรก็แล้วแต่) ไม่ได้ใส่ตะกั่ว พอลงทะเล น้ำทะเลมีความหนาแน่นสูงกว่าน้ำจืด ครูสอนแล้วเรื่องการคำนวณ % ของตะกั่วกับน้ำหนักตัว / wetsuit density / ปริมาตรปอด / และความลึกที่สัมพัทธ์กัน ออกมาเป็นจำนวนก้อนของตะกั่ว แต่พอลงไปหายใจที่ผิวน้ำก็จมๆลอยๆอยู่นั่นแหละ ลืมหมดตั้งแต่อยู่บนเรือ.. ปรับตัวไม่ได้ซักที

..ทุกอย่างก็เริ่มเละ..

มาต่อกันที่ 3 – 5 เมตร

ร่างกายของเราเพิ่งเริ่มปรับสภาพเข้าสู่ความลึกครับ การลงจากระดับ 0 – 3 หรือ 0 – 5 เมตร ต้องใจเย็น ชิลๆ ระดับนี้ลงยากกว่าปรกติเป็นเพราะยังมีแรงเหวี่ยงขึ้นลงจากคลื่น (wave amplitude) และจากกระแสน้ำ (tidal change) การลงจึงใช้เทคนิค (momentum) มากกว่าใช้แรง (energy) เรียกง่ายๆว่าทำอย่างไรจะทำให้เรา ‘ตัด’ ตัวเองออกไป ทิ้งดิ่งตัวเองลงสู่ระดับ 3เมตรได้โดยไม่ต้องใช้แรง ไม่เปลือง O2 (หรือใช้ให้น้อยที่สุด) นั่นคือสาเหตว่าทำไมคนที่ duck dive ได้ดีงาม จึงลงได้ง่าย และลงได้ลึกกว่า ก็เพราะจุดเริ่มต้นที่คนมองว่าเป็นเรื่องเล็กจุดนี้

แรงดันน้ำ (Pressure) ที่จุดประมาณ 3 – 5 เมตร จะสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 30-50% แปลว่า แค่จุดนี้ก็ต้องสู้กับความกดดันของน้ำที่เพิ่มขึ้นเยอะแล้ว ถ้ายังมัวแต่โถมแรงเข้าไป ไม่มีทางลงได้ลึกกว่านี้ ในทางเดียวกัน การซ้อมในสระที่ความลึก 5-6เมตร จึงอธิบายได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมเทคนิคการลงน้ำเบื้องต้นเท่านั้น (Entry) แทบไม่ได้มีผลกับการลงลึกได้ถึงระดับ 10เมตร ในแง่แรงดันเลย เพราะเมื่อแรงดันที่ 10เมตรจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับระดับ 5 เมตร ร่างกายก็ต้องปรับตัวอีกเท่านึงอยู่ดี

..จริงมั้ยครับ?

ปรกติที่จุด 3 – 5 เมตร การจมลอยหรือ buoyancy ของร่างกายควรเป็น – นิดๆ (negative) ซึ่งสามารถทำได้จากการฝึกเทคนิคการ duck dive ที่ดี หรือ จากการใส่ตะกั่ว (counter weight) แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของทะเลแต่ละที่ไม่มีทางเหมือนกัน ทั้งความสูงคลื่น ลม ร่างกายเราเอง อ้วน ผอม กินเยอะ กินน้อยมาก่อนลง ทุกอย่างมีผลทั้งนั้นครับ

ที่ระดับประมาณ 10 เมตร..

โดยทั่วไปถ้าหายใจถูกต้อง เคลียร์หูได้ดี ใช้เวลาในการลงจาก 0 – 5 – 10 เมตรได้พอเหมาะพอควร อากาศในปอดจะ compensate กับแรงดันของน้ำที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวได้พอดีๆ เราเรียกว่าร่างกายเราเริ่มเป็น neutral buoyancy หรือ ‘ไม่จม ไม่ลอย’ ก็เริ่มดำน้ำได้สนุกสิ ไม่เด้งไปเด้งมาเด้งหน้าเด้งหลัง จุดนี้แหละ ไม่ว่า dive agencies ไหนเค้าจึงเลือกให้เป็นระดับฝึก หรือ training depth พูดภาษาบ้านๆ คือ ลงไปได้ 10 เมตรก่อนละกัน แล้วค่อยเริ่มฝึกเทคนิคต่างๆ

สิ่งที่ควรทราบคือ ยังมีตัวแปรอื่นที่ทำให้ lung compensation ของ นักดำน้ำแต่ละคน ณ ความลึกนี้ ‘มีค่าไม่เท่ากัน’ ( ก็เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย สูง ผอม อ้วน หุ่นดี ฝึกมาเยอะ ฝึกมาน้อย ไม่เหมือนกันซักอย่าง )

บางคนจึงต้องลงไปที่ 11-12 เมตรเพื่อหาจุดไม่จมไม่ลอย ถึงจะเริ่มรู้สึกสบายตัวไม่อึดอัด (ก็แรงดันในปอดได้ถูกทดแทนพอๆกับแรงดันน้ำไปแล้วไงจากการ clear หู และความ flexibility หรือการขยายตัวของกระบังลม) ส่วนบางคนขี้หนาว แทบทุก dive agencies ก็อนุญาตให้ครูหักระยะความลึกของ training depth ลงอีก 10-20% แปลว่าลงไปที่ 8เมตร ก็ฝึกได้ เพราะเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิต่ำ ของเหลวและก๊าสในร่างกายจะเคลื่อนไหวได้ไม่ดี เซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cells) ก็เคลื่อนตัวไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและจุดต่างๆในร่างกายได้ลำบาก

การลงไปได้ที่ระดับนี้ จึงเป็นระดับฝึก (training depth) เท่านั้นครับ การลงให้ถึงจุดนี้เค้าจึง ‘ค่อยๆลง’ บางทีก็จับเชือกลงช้าๆบ้าง บางทีก็เอาก้นลงก่อนที่ระดับตื้นหน่อย แล้วค่อยหมุนตัวลงต่อ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ร่างกายเรา warm-up ก่อนที่จะไปต่อได้ ไม่มีการฟรีไดฟ์แบบไหนที่ลงพรวดๆแล้วจะสนุกครับ.. เจ็บหูแย่เลย

เมื่อเราฮึกเหิม.. ถึงระดับประมาณ 20 เมตรลงไป...

สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ ณ จุดๆนี้ ร่างกายอาจจะแทบไม่ได้ใช้อากาศที่หายใจก่อนลงน้ำแล้ว (ระหว่างการ breathe-up) เรียกว่าตื่นเต้นจนใช้อากาศหมดกว่าจะไปถึง แปลว่า อากาศที่เราหายใจที่ผิวน้ำเอาลงไปด้วยแทบจะหมดไปจากปอด เหลือแต่อากาศที่ปอดเก็บสำรองฉุกเฉินไว้ในจุด Residual Volume หรือ จุดสุดท้ายที่ร่างกายสามารถเรียก O2 ออกมาใช้ได้ ความจุตรงนี้สำหรับบางคนอยู่ที่ 20 – 25% แตกต่างกัน

ที่จุดประมาณ 15 – 20เมตร เป็นจุดที่ความกดดันของน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 200% แรงกดข้างนอกร่างกายเพิ่ม แต่ปอดถูกกดให้มีปริมาตรลดลง (ก็ไม่แทบไม่มีอากาศ ก็โดนกดได้ง่ายสิ) ทำให้ร่างกายเริ่ม ‘จม’ (Negative Buoyancy) หรือที่เราเรียกว่าเริ่ม Free fall ซึ่งเป็นเรื่องดีในการฟรีไดฟ์ ก็เพราะถ้าเป็นการจมแบบมีสติ การจมจะทำให้เราไม่ต้องใช้แรง ง่ายดีออก ไม่ต้องว่าย ไม่ต้องตีฟิน จะลงแบบนี้ได้ดี ใจ ร่างกาย จึงต้องนิ่งมาก การฝึกกลั้นหายใจแบบ STA หรือ แบบอยู่เฉยๆก็มีประโยชน์มากตรงนี้แหละ หลับๆไปเลยครับ รอ Dive Comp ปลุก ...แฮร่

พูดถึงเรื่องร่างกายต่ออีกนิด.. เมื่อปอดเริ่มไม่มีอากาศพอให้ใช้ clear หูแบบปรกติเช่น Valsava หรือเพราะเราต้องการประหยัดอากาศในการลงต่อให้ลึก (Valsava ส่วนหนึ่งเป็นการเป่าลมออกทางหู หรือช่องโพรงหูชั้นกลาง โดยใช้อากาศจากปอด) การทำ equalization จึงต้องไปหาอากาศจากช่องว่างของโพรงอากาศต่างๆในร่างกาย เช่น โพรงไซนัส โพรงผนังปอด เทคนิคการ ลงให้ลึกจึงต้องใช้ Frenzel’s Maneuver ใครทำเทคนิคได้ดี ก็ลงง่าย ใครทำเทคนิคไม่ได้ ก็ลงได้ครับ แต่จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะทุกอย่างในร่างกายเราจะเริ่มรวน และเริ่มเกเร..

25 – 35 เมตร .. ลงไปเรื่อยๆ...

ไม่ได้ลงยากเพราะเทคนิคล่ะครับ แต่จะลงไม่ได้เลย ถ้าไม่เข้าใจร่างกายตัวเอง หรือ ไม่เข้าใจว่าอันตรายมีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากเรื่องของความดันล้วนๆ ใครว่าฟรีไดฟ์ไม่เกี่ยวกับ N2 ลองอ่านตรงนี้ดีๆ

อันตรายอย่างแรก คือ Decompression Sickness ครับ เป็นโรคที่เกิดจากก๊าสในร่างกายที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทั้ง O2 CO2 และร้ายที่สุด คือ N2 อาการนี้เกิดจากการลงลึกในอัตราที่เร็วเกินไป และการขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป ทั้งถี่ และรัว (เรื่องการขึ้นสู่ผิวน้ำ หรือ Exit จะเล่าละเอียดให้ฟังในโอกาสถัดไป) เมื่อเราดำน้ำถึงระดับนี้ อะไรก็คุมยากครับ ขึ้น ก็ต้องช้าๆ ลง ก็ต้องช้าๆ ทุกอย่างในร่างกายต้องอยู่ในโหมดอัตโนมัติ คือ หยุดเอง ติดเองได้ และต้องมีการพักน้ำที่ระดับต่างๆไม่ต่างจาก SCUBA

ถ้าปรับร่างกายไม่เป็น ลงมั่วๆแล้วติด Decompression ขึ้นมา ก็สารพัดอาการตั้งแต่ปวดข้อ จุกอก จนเข้าโรงพยาบาลนอนในตู้ Chamber

อันตรายอย่างที่สอง คือ Nitrogen Narcosis หรือก๊าสไนโตรเจนเป็นพิษ เมื่อร่างกายไปที่ระดับความลึกนี้ ขนาดของเม็ดก๊าสหรือไนโตรเจนจะโดนบีบให้เล็กมากจนละเลียดออกจากปอด เข้าสู่เส้นเลือด กล้ามเนื้อ และเข้าสู่สมองได้

ที่สำคัญ ยิ่งลึกมาก ยิ่งเม็ดก๊าสยิ่งซึมเข้าง่ายมาก เพราะ ขนาดเล็กลงเรื่อยๆตามความลึก และไหลจากที่ๆมีความหนาแน่นสูง (High Concentration) ไปที่ความหนาแน่นต่ำเร็วขึ้น (Low Concentration) ..หนาแน่นมากที่ปอด หนาแน่นน้อยในเลือดที่มีอ๊อกซเจนลดลง.. หนาแน่นน้อยที่สมอง ..ไปคิดเล่นๆดูเอง

Nitrogen Narcosis เป็นผลมาจากความกดดันที่เพิ่มขึ้นเกินระดับสมองจะรับได้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบกับปอดโดยตรง โดยทั่วไปเกิดที่ประมาณ 3.16 atm ของ N2 ก็เอา 4 atm มาจับหารกับ 0.79 หรือสัดส่วนแรงดันของไนโตรเจนในอากาศที่ความลึก (Partial Pressure) ได้ค่าออกมา ก็ได้ค่าประมาณ 30เมตรจากระดับน้ำทะเล

ยิ่งถ้าลงถี่ๆรัวๆมากๆ (แบบมือโปรสายแข่ง หรือครูสอนไฟรีไดฟ์ หรือชาวประมง Spear-fisher) โอกาสตายยิ่งสูง (ครับ ..อ่านถูกแล้ว Nitrogen Narcosis ถ้าเป็นขึ้นมามีโอกาสตายครับ)

อาการแรกเริ่มของ Nitrogen Narcosis คนที่ดำน้ำสาย SCUBA จะทราบดี เหมือนคนเมาเหล้า มึน ฟิน (Euphoria)

การลงดำน้ำที่จุดลึกขนาดนี้ จึงไม่มีคนลงแบบ Full Lung เหมือนที่สอนกันใน Level 1 (เพื่อป้องกัน Lung Squeeze) แต่เค้าลงกันด้วย FRC (Functional Residual Volume) หรือหายใจออกแทบจะหมดปอด (Spearfisher) หรือครึ่งปอด (Competitive Freediver) ก็เพื่อป้องกันเรื่องความเสี่ยงตรงนี้ หลักการง่ายๆ ยิ่งเอาอากาศที่เต็มไปด้วยไนโตรเจน (79%)ลงไปเยอะ ก๊าสมันก็ละลายลงไปในกระแสเลือดได้ง่าย และลงไปได้เยอะ ความเสี่ยงก็ยิ่งเยอะ

จะลงได้ลึกขนาดนี้ จึงต้องมีการพักน้ำ (Surface Interval) อย่าลงติดๆกันแบบครูลง ปล่อยให้ CO2 มันออกจากร่างกายไปเยอะๆ เพราะก๊าสตัวนี้ทำให้ Nitrogen Narcosis มีผลรุ่นแรงขึ้น บางสูตรก็พัก 2 – 3 เท่าของระยะเวลาที่เราดำน้ำในแต่ละไดฟ์ แต่ความเห็นส่วนตัว พักเยอะกว่านั้นก็ได้ครับ แต่อย่าพักแบบก้มหน้า breathe-up เดี๋ยวก็มี hyperventilation อีก เฮ้อ...

การลงน้ำที่ระดับความลึกนี้ เค้าก็ไม่ค่อยใช้ Frenzel’s ในการเคลียร์หู เค้าใช้ Mouth-fill ซะมากกว่า เทคนิคนี้ทำให้เราสามารถ Equalize ได้ในจุดที่ร่างกายเดินผ่าน Residual Volume ไปแล้ว เทคนิคนี้ลิ้นปิดกล่องเสียง (epiglottis) จะถูกปิดไว้ แต่ใช้อากาศที่อมเข้าเก็บเข้าไปในโพรงอากาศทั้งนี้ก็เพื่อทดแทนอากาศที่ปอดไม่มีเหลือ และเพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ปอดถูกบีบ (Lung Squeeze) ถ้าใช้ Frenzel’s บ่อยเกินไป

...

การลงลึก ต้องซ้อมครับ

แต่ไม่ใช่ซ้อม... โดยไม่รู้จักร่างกายตัวเอง

..ในความลึกที่แตกต่างกัน

...

The Author is Freediver Instructor Trainer

about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page