top of page

ปอดแหกแค่เจ็บใจ.. แต่ปอดฉีกนั้นเจ็บกาย


เคยโดนเพื่อนว่าเราปอดแหกไหมครับ มันเจ็บใจใช่ไหม ถูกหาว่าขี้ขลาด ไม่กล้า ป๊อด ก็คนมันกลัวนี่(หว่า) ในชีวิตแต่ละคนมันต้องมีอะไรบ้างละที่ทำให้เรากลัว กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวความแคบ กลัวผี กลัวงู หรือแม้แต่...กลัวเมีย

เมื่อเราถูกจับทางได้ว่ากลัวบางอย่างที่คนอื่นเขาไม่กลัวกัน เขาก็จะหาว่าเราปอดแหก ... นักดำก็มีความกลัวเหมือนกันครับ กลัวปอดฉีก

ถ้าคุณเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องการดำน้ำมาบ้าง ก็น่าจะรู้จักอาการบาดเจ็บที่นักดำน้ำมือใหม่ต่างกลัวกันมานักต่อนัก นั่นคือ อาการปอดฉีก คือ ปอดจริงๆ ของเราเนี่ย มันเกิดการฉีกขาด เลือดตกในเลยนะครับ ไม่ใช่การอุปมาอุปมัย ปอดฉีกจริงๆ

ทางการแพทย์ เรียกอาการปอดฉีกนี้ว่า ภาวะเนื้อเยื่อของปอดฉีกขาด (Lung Burst , Arterial Gas Embolism, Pulmonary barotrauma หรือ PBT)

ก่อนที่จะอธิบายว่า ทำไมนักดำน้ำถึงกลัวอาการปอดฉีก แล้วอยู่ดีๆ ปอดมันฉีกได้ยังไง เดี๋ยวต้องเลคเชอร์วิทยาศาสตร์กันนิดหนึ่งให้เข้าใจกันก่อน...

หลายคนอาจจะเคยเรียนเรื่องกฎของก๊าซกันมาแล้ว(อย่าอ้างว่าเรียนสายศิลป์ไม่ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ มันต้องเรียนพื้นฐานกันมาบ้าง แอบหลับตอนครูสอนใช่ไหมล่ะ) โรเบิร์ต บอยล์ สอนเราว่าความดันสูง ปริมาตรก๊าซจะลดลง ความดันลดลง ปริมาตรก๊าซจะขยายใหญ่ขึ้น เดี๋ยว...หลายคนเริ่มส่ายหน้า งง ? งั้นจะอธิบายแบบยกตัวอย่าง

คือเวลาอยู่บนบกเนี่ย เราอาจไม่ค่อยรู้สึกถึงแรงดันของชั้นบรรยากาศโลกอะไรเท่าไร ก็หายใจสบายปกติ ความดันความเดินอะไร วู้... แต่ถ้าหากลองจุ่มตัวลงไปในน้ำ ร่างกายเราต้องรู้สึกถึงแรงต้านบางอย่างนิดหน่อยแล้วใช่ไหม นั่นล่ะครับ เมื่อเราลงไปใต้น้ำเนี่ย มันจะมีแรงดันบรรยากาศที่แตกต่างจากบนบก ยิ่งลึกแรงดันยิ่งมากขึ้น ปริมาตรของอากาศจะถูกมวลน้ำบีบให้เล็กลงในความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นตามความลึก

ซึ่งอากาศที่ถูกแรงดันบีบให้เล็กลงเนี่ย มันหมายถึงอากาศภายในร่างกายของเราที่อยู่ใต้น้ำด้วย

เมื่อเราดำน้ำลงไปในชั้นความลึกที่อากาศถูกบีบตัว อากาศในร่างกายของเราถูกบีบเล็กลง แต่พอเราจะขึ้นสู่ชั้นผิวน้ำ อากาศที่ถูกบีบไว้ มันก็ขยายตัวคืนกลับมาตามชั้นความลึกที่ไต่ระดับขึ้นมาอีก ตามความหนาแน่นที่ลดน้อยลง

ดังนั้น ถ้าหากนักดำน้ำจะดำขึ้นไปบนผิวน้ำเร็วเกินไปโดยไม่ได้มีการระบายอากาศออกทันเพียงพอ อากาศในปอดจะขยายตัวจนเกิดอาการปอดฉีก และเกิดฟองอากาศเข้าไปในกระแสเลือด อาการมีตั้งแต่หมดสติ ชัด หยุดหายใจ มีเสมหะออกมาเป็นฟองเลือด

ส่วนใหญ่ อาการปอดฉีกนี้มักจะเกิดขึ้นกับนักดำน้ำมือใหม่ที่เกิดอาการสติแตก หรือ panic กะทันหันเมื่ออยู่ใต้น้ำ( ซึ่งอาการแพนิคที่ว่านี้อาจจะเพราะตกใจเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันบางอย่าง เช่น เชือกพัน เจอสัตว์ทะเลดุร้ายโจมตีไม่ทันตั้งตัว ถังอากาศใกล้หมด ฯ ล ฯ) เมื่อดำน้ำขึ้นเร็วเกินไปจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน ยิ่งเป็นการกลั้นหายใจตอนอยู่ในที่ลึกๆ แล้วจู่ๆ ทะลึ่งตัวขึ้นมาส่วนผิวน้ำยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นอีก เพราะนอกจากถุงลมในปอดจะฉีกขาดแล้ว เยื้อหุ้มปอดก็จะฉีกขาดไปด้วย เกิดภาวะลมรั่วในช่องอก ( Pneumothorax) อันนี้ก็ Go So Big ไป กัน ใหญ่เลยล่ะครับ

ถ้าเกิดไปดำน้ำกับกลุ่มเพื่อน แล้วมีใครเกิดอาการปอดฉีกขึ้นมา ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนครับ ต้องถึงมือหมอเท่านั้น ซึ่งความสาหัสของอาการจะมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางรายอาจจะรับการรักษาเจาะท่อรักษา หรือผ่าตัดปิดรอยแผลที่ปอดฉีกขาด แล้วแต่รายกันไป แต่ที่ต้องเตรียมใจแน่ๆ คืองานนี้ต้องเข้าพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลายวันเลยล่ะครับ บางรายอาจต้องเข้าห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงด้วย(แต่ค่าใช้จ่ายก็เอาเรื่องนะ มีโรงพยาบาลไม่กี่แห่งหรอกที่มีห้องแบบนี้) ออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ต้องพักฟื้นร่างกายอีกยาว ฝึกการหายใจ เตรียมร่างกายให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ก่อนจะดำน้ำครั้งต่อไป ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษากันก่อนด้วยเพื่อความปลอดภัย

ปอดฉีก เลยถือเป็นอาการบาดเจ็บที่นักดำน้ำหวาดกลัวลำดับต้นๆ เลยล่ะครับ เพราะอาการมันก็สาหัสเอาการอยู่ ต้องจำเอาไว้เสมอว่า เวลาอยู่ใต้น้ำ ต้องหายใจเข้าออกตลอดเวลา อย่ากลั้นลมหายใจ เวลาจะขึ้นสู่ผิวน้ำให้ค่อยๆดำขึ้นมา รักษาอัตราความเร็วอยู่ที่ 9 เมตรต่อนาที สังเกตง่ายๆ คือขึ้นให้ช้ากว่าฟองอากาศที่เล็กที่สุดที่เราปล่อยออกมา ข้อดีของการค่อยๆ ดำน้ำขึ้นมาอย่างช้าๆ มีหลักการนี้ นอกจากช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปอดฉีกแล้ว ยังลดความเสี่ยงในการเกิดอาการโรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) อาการบาดเจ็บอีกอย่างที่อาจเกิดขึ้นจากการดำน้ำซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความดันอากาศใต้น้ำนี้ด้วยนะครับ เดี๋ยวถ้าใครสนใจ วันไหนจะลงบทความเรื่องอาการบาดเจ็บอื่นๆ ที่สามารถระวังป้องกันได้ให้ได้ทราบกันเพิ่มเติม

การปอดแหก(กลัว)ที่จะเกิดการปอด(จริงๆ)ฉีกนั้นเป็นสิ่งที่มีไว้บ้างก็ดีครับ เวลาดำน้ำจะได้เตือนตัวเองเอาไว้ไม่ให้ดำขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป การดำน้ำของเราจะได้ปลอดภัย ไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัวกันครับ

The Author is PADI ICD Staff Instructor / PADI Freediving Instructor


Comments


about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page