top of page

โลดแล่น บนโลก2โลก Coach vs Athlete


ผมเป็นครู (coach) ไม่ใช่นักกีฬา (athlete)ครับ เมื่อเลือกเป็นครู หรือเป็นโค้ช การสอนแต่ละครั้ง จึงต้องใช้พลังมาก ทั้งระหว่างสอน ระหว่างฝึก ระหว่างพาไปสอบ ไม่เหมือนการลงดำน้ำฟรีไดฟ์เองคนเดียว หรือซ้อมเงียบคนเดียวที่อารมรณ์จะชิล นิ่ง สงบ อยากลงลึกไปเท่าไหร่ก็ลงไปสิ อยากจะสร้างสถิติอะไรก็ใช้เวลากับมันสิ

บางทีแอบนึกอิจฉาน้องๆที่จบไปเหมือนกัน คงได้ฟรีไดฟ์กันหนุกหนาน ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ไม่ต้องมีห่วง มีอะไรวุ่นวายใจ ก็ทิ้งมันไว้ข้างบน

โลกของโค้ช ก็คือ ‘ โค้ช ’

โลกของโค้ช คือ ความรู้ที่ถ่ายทอดให้ ผสมผสานความรู้พื้นฐาน กับความรู้ใหม่ที่หาใส่ตัวเพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งเทคนิค งานวิจัย ทฤษฏี และวิธีการ

...

นักกีฬาฟรีไดฟ์ ก็คือ ‘ นักกีฬา ’

โลกของนักกีฬา คือ การแข่งขัน มีตารางซ้อมกันสม่ำเสมอ ซ้อมแทบทุกวัน จ้างโค้ชมาสอนบ้าง สอนกันเองบ้าง เดินสายแข่งขันในทัวนาเมนต์ที่ได้รับการยอมรับต่างๆบ้าง

...

สมัยก่อนการเรียนฟรีไดฟ์เค้าสอนเหมือนไม่สอนนะครับ นักกีฬาระดับโลกเค้าไม่ถ่ายทอดเทคนิคขั้นสูงกันให้คนอื่นกันง่ายๆ ตำรับตำราก็ไม่ค่อยจะมี หรือมี ก็ผิดบ้างถูกบ้าง เพราะศาสตร์ด้านนี้มันพัฒนาตลอดเวลา มันยังเรียนรู้ไม่จบ ร่างกายคนเราที่มองเห็นก็เพียงแต่ด้านนอก ยังมีเรื่องลี้ลับอีกเยอะที่เรายังไม่รู้ รอวันที่เราจะรู้มากขึ้น

การสอนเป็นเรื่องที่เหมือนง่าย แต่จริงๆแล้วมันยากพอดูนะครับ ทั้งทฤษฏีที่มีเยอะ แต่ต้องพยายามทำให้เข้าใจได้ง่าย จับประเด็นที่ผู้เรียนอยากจะฟัง ทำเรื่องยาวให้เป็นสตอรี่สั้นๆ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

การสอนฟรีไดฟ์ จะว่าไปก็เหมือนตัวครูเป็นบรรณาธิการ น้องสต๊าฟเป็น sub-editor สถาบันเป็นคนกำหนดพื้นที่การสอนให้กระชับ พอเพียง เหมาะสมกับความต้องการผู้เรียน

การสอนฟรีไดฟ์จึงเป็นการลดทอนสาระมหาศาลของการเรียนรู้และการฝึกที่เค้าทำกันมาเนิ่นนาน ย่อยออกมาให้ผู้เรียนเข้าใจและรักกิจกรรมนี้ได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

ถ้าเปรียบเทียบเป็นงานเขียน ก็ไม่ต่างกับเอาหนังสือ textbook หนาซัก 1,000หน้า เอามาเล่าให้จบภายใน1ชั่วโมง ซึ่งมันคงไม่ใช่เรื่องง่าย

...

การสอนแบบโค้ช (coaching) มี 2แบบ อย่างแรก คือ การทำให้คนรักฟรีไดฟ์โดยการสร้างความจดจำในสิ่งที่เค้าทำได้ดี กับ การทำให้เค้าเผลอลืมปัญหาหรือสิ่งที่เค้ายังทำไม่ได้ออกไปชั่วขณะ

โค้ช มีหน้าที่ ตอกย้ำเรื่องราวที่เค้าทำได้ดีแล้ว พร้อมๆกับพยายามแก้ปัญหาเบื้องหลังของผู้เรียนอยู่เงียบๆอย่างสร้างสรรค์

น้องที่มาเรียนจะถามเสมอ ‘ครู หนูจะสอบผ่านมั้ย’ คือ เอิ่มม.. เอาจริงๆ ผมก็ไม่ทราบหรอกครับ รู้แต่ว่ามันเป็นหน้าที่ของผม ที่จะปรับเอาเทคนิคที่เค้าทำได้ดีอยู่แล้ว มาใช้ควบคู่กับปัญหาที่เค้ามี แก้ปัญหาให้เค้าผ่านให้ได้ (เช่น ลงได้ลึก แต่ท่าไม่สวย หรือเคลียร์หูไม่ได้ซักที เอาไงดีฟระ)

หน้าที่โค้ช จึงเป็นคนที่คอยบอกว่า ‘ เค้าขาดอะไร เค้าเกินอะไร เค้าต้องเติมอะไร ต้องเพิ่มอะไร ’ ไม่ใช่แค่บอกให้ไปซ้อมแล้วค่อยกลับมาสอบ...

หน้าที่ของโค้ช คือ 'การแปรความผิดพลาด'ระหว่างการฝึก การเรียน ให้กลายเป็น ‘บทเรียน’

..และที่สุดเล้ว กลายเป็น ‘คำตอบ’

น้องๆทุกคนที่ผมสอนจะทราบดีว่า เวลาผมสอน ผมจึงไม่เคยสนใจสถิติ ไม่สนใจเวลา ไม่สนใจว่าใครจะอึดได้มากน้อยแค่ไหน เอาให้ได้ตามมาตราฐาน เพื่อดำน้ำให้สนุกและปลอดภัย..

ผมถือว่า ‘พอ’

วันนี้เราวิ่ง 100 เมตรในไม่กี่วินาทีได้... พรุ่งนี้เราก็ทำได้ดีกว่า

วันนี้เราลงได้ลึก 10 เมตรได้... พรุ่งนี้เราก็ทำได้ดีกว่า

...

โลกของสถิติ มันมีแต่แคบลงเรื่อยๆ

แต่โลกของความสุขส่วนตัว

มันขยายออกได้กว้างไกล

..ไร้ข้อจำกัดครับ

The Author is Freediver Instructor Trainer


about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page