top of page

ผีผ้าห่มผู้น่ารักใต้สมุทร Manta Ray


ถ้าจะมีสัตว์ทะเลอะไรที่เป็น “ไอดอล” สำหรับนักดำน้ำเป็นพิเศษ นอกจากฉลามวาฬที่จัดเป็นอันดับหนึ่งในใจแล้ว อันดับสองคงไม่พ้นเจ้าปลากระเบนแมนต้าครับ เจ้าปลาหน้าตาประหลาดเหมือนผีผ้าห่มลอยไปลอยมาใต้ผืนน้ำที่ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกอัศจรรย์ใจได้เสมอ

Manta Ray in Raja Amphat, Indonesia

คำว่า Manta ซึ่งเป็นชื่อสกุลของปลากระเบนสายพันธุ์นี้มาจากภาษาสเปน ที่แปลว่า " ผ้าห่ม " นั่นเอง กระเบนพันธ์นี้จะเป็นคนละสายพันธุ์กับปลากระเบนปีศาจ (Devil Rays) ซึ่งอยู่ในสกุล Mobula (ปลากระเบนหรือ Rays มีกว่า 11 สายพันธุ์) พวกนั้นจะอยู่แถบอ่าวแคลิฟอร์เนียครับ กลุ่มนั้นเค้ามีลักษณะพิเศษคือชอบกระโดดที่ผิวน้ำเหมือนกำลังบินเหิน (ซึ่งทำให้ได้อีกชื่อว่า Flying Rays แต่มันจะทำไปเพื่ออะไร ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครรู้จริงๆซักที) ในขณะที่ปลากระเบนแมนตาไม่ทำอะไรพิลึกๆ แบบนั้น แมนตาอาศัยอยู่แถบทะเลเขตร้อนแนวปะการัง ซึ่งพบได้บ่อยตามมหาสมุทรอินเดีย ทั้งหมู่เกาะมัลดีฟส์ รวมไปถึงหมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลันของทะเลไทยเรานี้ล่ะ แหล่งพบเจอปลากระเบนมันตาเลยล่ะ อ่าวไทยก็อาจจะพบได้บ้าง เช่น โซนหินใบ กองหินโลซิน ประมาณนี้ ถ้าอยากยลปลากระเบนมันตานอกประเทศ ที่แถวๆบาหลี ราชาอัมพัต ปาเลอู ก็มีเยอะ ถ้าเงินอีกถึงหน่อย ก็จะมีโซนแนวปะการังเกรตแบริเออร์ หมู่เกาะกัลลาปากอส หมู่เกาะฮาวาย หมู่เกาะไมโครนีเซีย ยิ่งโซนห่างไกลเดินทางยากๆ นั่งเครื่องบินหลายตลบ ถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสมาก ทะเลบ้านเราก็มีนี่ครับ จะใกล้เกลือกินด่างไปทำไม้

Devil Rays, The Maldives.

ปลากระเบนแมนต้าหรือมันต้านี้ จากรูปทรงที่พิลึกกว่าชาวบ้านเขาและความใหญ่โตของมันเป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็นมาแต่โบราณแล้วครับ แต่นักเดินเรือในอดีตไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มากพอจะดิ่งลงไปศึกษาปลากระเบนแมนตาใต้น้ำได้ถ่องแท้ บางพื้นที่อาจมีความเชื่อว่าปลากระเบนแมนตาเป็นสัตว์ดุร้ายจากขนาดมหึมาที่กว้างตั้งแต่ 3-7 เมตร หนักเป็นตันขึ้นไป กับรูปร่างหน้าตาแปลกๆ ของมัน เวลาว่ายน้ำ พี่แกก็จะอ้าปากหวอตลอดเวลาให้ยิ่งดูขนลุกมากยิ่งขึ้น( จริงๆแค่จะกินแพลงก์ตอน มันคงแอบเสียใจเหมือนกันว่าเกลียดหนูทำไม) ทำให้มันดูเป็นสัตว์ทะเลที่น่าเกรงขามและน่ากลัวราวปีศาจใต้ท้องทะเลลึก (เพราะชอบว่ายเรี่ยพื้นทรายเพื่อหาอาหาร)

นักดำน้ำค้นพบในช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เองว่า ปลากระเบนแมนตาแม้จะเป็นสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่แต่ไม่ได้ดุร้ายหรือ attack ผู้คนซักนิด ตรงกันข้าม จริงๆ แล้ว ปลากระเบนจัดว่าฉลาดเป็นพิเศษด้วยซ้ำ เพราะมีสมองที่ใหญ่ที่สุดในปลา 32,000 สายพันธุ์ใต้ท้องทะเล มีเซลล์สมองบางส่วนคล้ายคลึงกับนกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่าสัตว์น้ำทั่วไป ว่ากันว่า ปลากระเบนแมนตาน่าจะฉลาดพอๆ กับลิงใหญ่อย่างชิมแปนซีหรือกอริลลา หรือโลมาปากขวดซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ที่มีสมองใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด

สำหรับนักดำน้ำแล้ว เมื่อพบกับฉลามวาฬ ขวัญใจตลอดกาล ยักษ์ใหญ่ใจดีอาจจะว่ายช้าๆ ผ่านเราไปเฉยๆ หรือถ้าเราจะดำน้ำตามไป ก็ไม่หนี ไม่ไล่ ไม่หืออืออะไรกับใคร แต่ปลากระเบนแมนตานั้น หลายครั้งที่มีการบันทึกภาพหรือวิดีโอเจ้าผีผ้าห่มเหล่านี้มีปฏิกิริยาตอบกลับเมื่อพบกับมนุษย์ เหมือนกับเด็กซนๆ ที่อยากรู้อยากเห็นว่ามนุษย์คืออะไร มาทำไม บางพื้นที่ที่นักดำน้ำมาลงบ่อยๆ ปลากระเบนแมนตาบางตัวถึงกับว่ายมาทักทายกันเลยด้วยซ้ำ เพราะคุ้นกับมนุษย์แล้ว

ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปลากระเบนแมนตาจะน่ารักน่าเอ็นดูขนาดนี้ แต่มันก็อยู่ในรายชื่อของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกับสัตว์น้ำขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มนุษย์เราล่ากันอย่างบันเทิงใจด้วยความเชื่อโบราณว่าปลากระเบนสามารถเอามาทำยาจีนได้หลายขนาน เป็นเมนูไฮโซไม่ต่างจากซุปหูฉลาม หนังเอาไปทำกระเป๋าใบละเป็นแสน และแม้ในพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกล่า ปลากระเบนแมนตาก็อาจไปติดเอากับแหหรือเบ็ดของเรือประมงได้ไม่ยาก จากขนาดตัวอันใหญ่โตของมันที่ว่ายน้ำไปเรื่อยๆเพื่อกินแพลงก์ตอน บวกกับการที่ปลากระเบนแมนตาเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ยาก ตัวเมียต้องอายุ 10 ปีถึงจะสามารถออกเดตหาคู่ตุนาหงันได้(เข้าใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่จะไม่มีทีนมัม ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบแน่ชัดเกี่ยวกับอายุขัยของมัน แต่เชื่อว่าน่าจะอยู่ที่ 30 ปีขึ้นไป) และเมื่อคุณแม่กระเบนแมนตาตั้งครรภ์ เธอใช้เวลาถึง 1 ปีในการอุ้มท้อง แล้วก็จะมีลูกแค่ 1 ตัวอีกต่างหาก และหลังคลอดลูก แม่ปลายังต้องใช้เวลาอีก 2-5 ปีกว่าจะออกเดตอีกรอบ ดูทรงแล้วเข้ากับคำโบราณว่า มีลูกไม่ทันใช้ ปลากระเบนแมนตาเลยผลิตประชากรไม่ทันการล่าในที่สุด ทั้งที่จริงๆแล้วศัตรูตามธรรมชาติของมันมีน้อยมาก ถ้าจะมีก็คงจะไม่พ้นมนุษย์นี่ล่ะ

The flying Mobula Ray, Mexico.

ปัจจุบัน ในไทยยังไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อให้กระเบนแมนตาเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่เหล่านักดำน้ำ นักอนุรักษ์หลายกลุ่มก็พยายามส่งเสียงให้ดังที่สุดไปตามสื่อต่างๆ ให้เกิดการรับรู้ในสังคมวงกว้างเพื่อผลักดันให้เกิดการคุ้มครองเจ้าผีผ้าห่มสุดน่ารักใต้ทะเลเหล่านี้ให้อยู่กับเราไปนานๆ

ลองคิดภาพชาวประมงหรือนักตกปลาจับปลากระเบนแมนตาเหล่านี้ขายในราคาหลักหมื่นหลักแสนในทีเดียวกับหนึ่งชีวิตที่หายไปจากทะเล มันก็เป็นแค่เศรษฐกิจระดับจุลภาคเล็กๆ เลี้ยงได้แค่ไม่กี่ครอบครัวอิ่มไปไม่กี่มื้อ

แต่การอนุรักษ์ปลากระเมนแมนตาไว้อยู่คู่ทะเลไปนานๆ ให้กลายเป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียง รู้กันหรือไม่ว่าจะกลายเป็นตัวเรียกแขกให้กับนักท่องเที่ยวในมุมมองของเศรษฐกิจระดับมหภาคใหญ่ๆ ให้กับท้องถิ่นโดยรวมได้มากขนาดไหน

ที่เกาะไคลัว โคนา หมู่เกาะฮาวายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่ดึงเอาเสน่ห์ของการดำน้ำดูปลากระเบนแมนตามาเป็นจุดขายหลัก ในปีหนึ่งๆ จะมีนักท่องเที่ยวมาพักที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้เพื่อชื่นชมกับความอัศจรรย์ใจของฝูงปลากระเบนแมนตากว่า 80,000 คน เป็นรายได้ใหญ่ที่ทำเงินมากมายให้กับคนในเกาะแบบยั่งยืนกว่าการล่าเพียงเงินก้อนเดียวครั้งเดียวจบ

การดำน้ำและการอนุรักษ์ สอนให้เรารู้ว่าทุกชีวิต ทุกสิ่งที่มีขึ้นบนโลก ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ การดำรงอยู่ของมันบนโลกใบนี้สำคัญทั้งนั้น และทุกอย่างมันสัมพันธ์กันทั้งหมด

เมื่อมนุษย์เราคิดแต่จะเอา คิดแต่อยากจะได้ เรามักจะเสียครับ ในขณะที่เมื่อเราคิดจะรักษาไว้ พยายามที่จะให้มากกว่ารับ สุดท้ายแล้ว เรามักจะได้มากกว่าที่ให้ไปเสมอ


about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page