top of page

ยิ่งสูงยิ่งหนาว Mountain Freediving


Instructor Trainer ที่ผมกำลังฝึกด้วยกันท่านหนึ่งมาจาก Performance Freediving International, Oregon, US. แกตระเวณฟรีไดฟ์ทั้งที่ทะเล น้ำแข็ง และทะเลสาปภูเขาสูง ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์กันเรื่องการดำน้ำในที่สูง (Altitude Dive) จากที่ผมหาเรื่องไป Freedive ประหลาดๆในหลายที่ในญี่ปุ่นรวมถึงฮีอกไกโด ส่วนเค้าทำงานและสอนอยู่ทั้งแถบ Alaska และ US Pacific Coast ซึ่งแตกต่างกัน แต่ได้ความรู้แลกเปลี่ยนกันเพิ่มขึ้นมากครับ

Courtesy of Himalaya 2017 – Extreme Altitude Freedive Project

ปรกตินักปีนเขาสูงที่มีประสบการณ์จะรู้จักและคุ้นเคยกับการปรับตัวกับสภาวะที่มีอ๊อกซิเจนน้อยก่อนที่จะขึ้นสู่ระดับความสูง (Altitude) หรือที่เราเรียกว่ามีผลต่อแรงกดดันและความสมดุลของเลือด เค้ามักจะฝึกให้ร่างกายมีความคุ้นเคยกับภาวะ hypoxia จนถึงขึ้นบางครั้งความเข้มข้นของ O2 ในเลือด (blood saturation)ต่ำลงไปถึง 40% (หรือลงไปกว่าครึ่ง)

นักปีนเขา เวลาเตรียมตัว เค้าจะค่อยๆไล่ระดับความสูงที่ไต่ขึ้นไปครับ เหตผล คือการทำความคุ้นเคยกับแรงดันที่เปลี่ยนไป นักปีนเขานักไต่เขาทุกคนทราบดีว่าถ้าขึ้นที่สูงมากต้องค่อยๆทำการปรับตัวให้เข้ากับชั้นบรรยากาศ หรือที่เราเรียกว่า acclimatization ด้วยการทำให้ระดับการเต้นของหัวใจที่ลดต่ำลงสัมพัทธ์กับปริมาณความเข้มข้นของอ๊อกซิเจนในเลือด

เหมือนกับเราฟรีไดฟ์ ไม่มีใครลงพรวดเดียวไปที่ความลึก 10 – 20 เมตร ไม่ว่าจะเป็นการฟรีไดฟ์ที่ระดับน้ำทะเล หรือการฟรีไดฟ์บนภูเขา เราค่อยๆไล่ระดับความลึกลงไปครับ

หลักการไม่แตกต่างกันกับนักปีนเขา แต่บริบทไม่เหมือนกัน

เพราะอะไร?

เรื่องแรก เวลาเราอยู่บนภูเขา อากาศ (Air) จะมีความหนาแน่นน้อยกว่าปรกติ แปลว่า อ๊อกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปก่อนลงดำน้ำ ก็มีความหนาแน่นน้อยกว่าปรกติเช่นกัน ส่งผลให้ เวลาเราเคลียร์หู (equalize) ก็จะยากกว่าปรกติมาก ทั้งก่อนลงน้ำ และระหว่างการดำน้ำ

นอกจากนี้ด้วยเหตผลเดียวกัน คืออาการปอดถูกบีบ (Lung Squeeze) เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า ลองคิดดูง่ายๆ ปริมาณอ๊อกซิเจนต่ำ ถึงน้ำจะมีความหนาแน่นเท่าเดิม แต่แรงกดดันกลับสูงมากกว่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เวลาเราดำน้ำฟรีไดฟ์บนที่สูงก็เหมือนกับการกดเอาปอดที่มีปรมาณก๊าสน้อยกว่าลงไป ร่างกายคงไม่สามารถ equalize เอาอะไรอากาศออกมาจากหูได้ง่าย เจ็บแย่เลย

เมื่ออ๊อกซิเจนน้อย ผลที่ตามมาคือเราจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อยากหายใจมากกว่าปรกติ (หรืออาจจะเรียกว่าหายใจไม่ค่อยออก) สำหรับคนที่เคยไปทัวร์เนปาลทั่วไปคงทราบดี ต้องไปพักผ่อนปรับตัวก่อนวันสองวัน แล้วถึงเดินเล่นขึ้นเขาชิลๆได้

แต่เมื่อพูดถึงการสำหรับฟรีไดฟ์ในที่สูง มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะเมื่อเรากำลังจะดำน้ำแล้วเกิดอยากจะหายใจมากกว่าปรกติ (เนื่องจากอ๊อกซิเจนในอากาศมันน้อยลง) ร่างกายจะบังคับให้เราหายใจถี่ขึ้นโดยอัตโนมัติ อาจทำให้จะเกิดภาวะ hyperventilation หัวใจเต้นรัว ทำให้ระดับความเข้มข้นของ CO2 ผิดปรกติจนร่างกายสับสนว่าต้องการ O2 หรือยังเมื่อกลั้นหายใจ (Breathe hold) หรือพูดง่ายๆว่าร่างกายไม่รู้ว่าจะเกิดอาการ urge to breathe หรือยังนั่นเอง

นอกจากนี้ การดำน้ำลึกแบบฟรีไดฟ์ในที่สูง มีความเสี่ยงมากกับภาวะน้ำท่วมปอดหรือปอดบวมน้ำ (Immersion pulmonary edema) เพราะการดำน้ำแบบหัวตั้งขึ้น (Ascending FIM upright position) ทำให้ของเหลวในร่างกายถูกดันขึ้นไปอยู่ที่ปอด หัวใจ และอวัยวะในช่วงอกอยู่แล้ว ยิ่งถ้าลงลึก ยิ่งโดนกดดันมาก ยึ่งโดนดันมาก แปลว่าเส้นเลือดเล็กๆของอวัยวะในช่วงอกต้องต่อสู่กับแรงกดดันที่สูงขึ้น ผลก็คือ ถ้าเราไม่ชำนาญ หรือร่างกายไม่ชิน ก็ทนไม่ไหวสิครับ ของเหลว ไม่ว่าเลือด หรืออะไร มันก็โดนดันเข้าไปที่เนื่อเยื่อบางๆในปอดได้ง่าย

การดำน้ำในที่สูง temperature ของน้ำจะเย็นกว่าระดับน้ำทะเล (ลองนึกถึงถ้าต้องอาบน้ำตกที่เขาใหญ่ละกัน บรื่ออสสส) เมื่อน้ำเย็น ก็ทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากกว่าปรกติ เรื่องนี้ได้เคยเกริ่นในบทความที่ผ่านมา การไหลเลื่อนของอ๊อกซิเจนที่มีอยู่ในร่างกายก็ทำได้ยากขึ้น การดำน้ำในที่สูง โดยเฉพาะการดำน้ำในที่เย็น ทั้งน้ำแข็ง หรือทะเลสาป จึงทำให้เราลงได้ลึกน้อยกว่าปรกติมาก และลงได้ยากกว่ามาก

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ มาตราฐานของหลาย Dive Agencies กำหนดไว้ชัดเจน ว่าถ้าอุณหภูมิน้ำต่ำกว่า 10 – 15c ให้ลดความลึกลงอย่างน้อย 20-30% ของความลึกที่ต้องการจะดำน้ำ ทั้งการดำเล่น ดำแข่ง และการสอบ ส่วนการดำน้ำที่ความสูงเกิน 300m จากระดับน้ำทะเล ควรเรียนและฝึกอย่างถูกต้องกับผู้ฝึกสอนก่อน ส่วนหนึ่งก็เพราะเหตผลเหล่านี้

...

คำถามคือ งั้นแปลว่าฟรีไดฟ์ในที่สูงไม่มีข้อดีเลยเหรอ?

ตอบว่า 'มีครับ' เพราะก็มีบางคนเค้าพยายามฝึกกันให้ชินกับสภาวะ O2 ต่ำมากๆก่อนการแข่งขัน โดยการทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและระบบหายใจทำงานหนักขึ้นบ่อย

จะได้ได้อึดขึ้น กระบังลม ปอด ยืดหยุ่นขึ้น

...

อีกคำถามคือ แล้วถ้าอาจจะมีอันตราย หรือความเสี่ยงมากแบบนั้น คุ้มมั้ยที่จะลอง?

ตอบว่า ก็ให้พิจารณาเหตผลและผลดู..

อาจจะคิดเล่นๆว่า ชาวบ้านเค้าจะไปฟรีไดฟ์กันในที่สูงกันเพราะอะไร?

....

ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ก็เพราะเค้าไม่ได้โชคดีเหมือนบ้านเรานิ

บ้านเมืองเค้าไม่ได้ติดทะเล.. อยากฟรีไดฟ์ ก็ต้องดิ้นรนเอา

บ้านเมืองเค้าเป็นเมืองหนาว.. อยากฟรีไดฟ์ ก็ต้องทนความยะเยือกเอา

บ้านเมืองเค้าอยู่บนภูเขา.. อยากฟรีไดฟ์ ก็ต้องรู้จักวิธีการฝึกที่ถูกต้อง..

...และ บริหารความเสี่ยงเอาเองครับ

The Author is PADI Altitude Dive Specialist Instructor / Freediver Instructor

Trainer


about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page