top of page

ทำไมต้องปักหัวลง Deep Training


เวลาเราไปออกสอบ นอกจากความตื่นเต้นของ soon-to-be-freediver แล้ว สิ่งที่ทุกคนเคยเจอและมีคำถามตามมาเสมอ คือ ทำไมเวลาจะลงวุ่นวายจัง? จะเอามือไว้ตรงไหน? ทำไมครูต้องให้เอาหัวลงเท่านั้น? เอาก้นลงไม่ได้เหรอ? ทำไมก้นมันลอย? ทำไมตีขาไม่สวย? ทำไมฟินมันลอยฟาดงวงฟาดงาอยู่ในอากาศ? ทำไมครูต้องให้ทำแบบนี้.. ทำไม ทำไม ทำไม... ? ? ?

PADI - Mike Hong

เทคนิคการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่อาจจะฟังดูเบสิคที่สุด คือการปักหัวลงครับ ถ้าที่ผิวน้ำก็คือการ 'Duck Dive' หรือ การปักหัวลงน้ำแบบ ' เป็ด '

Freediver จะพยายามลงไปที่ความลึกที่ต้องการให้เร็ว แล้วค่อยเริ่มต้นการฟรีไดฟ์จริงๆครับ สาเหตที่ต้องลงเร็ว และ ตรง คือ ระหว่างการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ เราต้องการลดความเครียด ความกดดันของทั้งร่างกายและจิตใจของเราให้เร็วที่สุด รีบพาตัวเองให้อยู่ในน้ำได้เร็วที่สุด และเพื่อให้เกิด dive reflex (ขอเรียกง่ายๆว่า การปรับตัวของร่างกาย) ได้เร็วที่สุด

นอกจากนั้น การปักหัวลงเป็นการสร้างระเบียบของร่างกายให้ถูกต้องระหว่างการลงในการฝึกทำความลึก (deep training) ท่าที่ถูกต้องหลังจากลงไปแล้ว คือ ยืดลำตัวให้ตรง มือประสานไปข้างหน้า(ถ้าทำได้) ศรีษะอยู่ตำแหน่งตรงกับลำตัว ไม่หงายคอ ซึ่งนอกจากจะทำให้กังวลกับความลึกแล้วยังทำให้อากาศหรืออ๊อกซิเจนที่มีอยู่น้อยนิด ไหลเวียนได้ไม่ดี ส่วนหนึ่งเพราะกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Abdominal muscle) ไม่อยู่ในตำแหน่งที่ทำให้กระบังลม (Diaphragm) ขยายยืดตัวได้ดี นอกจากนี้ การลงน้ำแบบงอตัว (หรือลงแบบตัวเอียงๆ) ทำให้ กระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar spines) คดงอตาม และก็ไปบล๊อกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนตัวลงลึกอย่างมีประสิทธิภาพของนักดำน้ำลดลง (ตัวอย่างเช่น การสลับจังหวะในการ equalize ระหว่างการลงลึกทำได้ไม่ดี หรือ เสียจังหวะ เพราะอากาศที่ใช้ในการเคลียร์หู หรือปอดไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามใจเรา)

ยิ่งถ้าเราสามารถจัดระเบียบร่างกายได้ดี ยิ่งทำให้เราไม่ต้องเคลียร์หูบ่อยครับ จากระดับ 1 –10เมตร มือใหม่อาจจะต้องเคลียร์ทุก 1-2เมตรตามที่ครูสอน แต่ถ้าลงลึกมากกว่านั้น การฝึกจะเน้นที่เคลียร์แค่ 5-10มตร ต่อครั้งเท่านั้น สบายตัว และ ลงง่ายกว่าเยอะ (ด้วยเทคนิคการ equalize ที่แตกต่างกัน)

สำหรับการฝึก ถ้าอยากลงได้ลึก สิ่งที่สำคัญคือ ให้ทำความคุ้นเคยกับระยะที่ใกล้กับความลึกนั้นๆก่อน แปลว่า ซัก 3-5เมตรก่อนถึงความลึกที่ต้องการ ให้หยุด (หรือที่เราเรียกว่า hang) โดยการเอาขาเราพันกับเชือก (drop line) เพื่อป้องกันไม่ให้หัวเราเชิดขึ้น เกาะเชือกไว้ แล้วอยู่นิ่งๆซัก 2-3วินาที หลังจากนั้นปล่อยมือตามสบายตั้งตัวให้ตรงๆไว้ เมื่อพร้อมแล้วก็ค่อยๆไหลตัวเองลงไป (อาจจะต้องใส่ตะกั่วช่วยนะ ในกรณีที่ไม่ได้ลงลึกกว่า 16-20เมตร)

ฝึกแบบนนี้ไปเรื่อยๆประมาณ 3-4รอบ แล้วค่อยลงไปที่ความลึกที่ต้องการ จากนั้น ถ้าอยากเพิ่มความลึกก็เพิ่มครั้งละไม่เกิน 20-25% เช่น ทำได้แล้วที่ 20เมตร รอบหน้าก็ลองที่ 25เมตร โดยการลองหยุด hang ที่ประมาณ 18-23เมตรก่อน

อีกเทคนิคนึงในการทำให้ร่างกายผ่อนคลาย คือ free immersion หรือการลงลึกโดยไม่ใช้ฟินครับ Freediver บางท่านไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะมันเหนื่อยถ้าไม่ใส่ฟิน ซึ่งก็ไม่ผิด แต่การทำ free immersion เพื่อการฝึกให้ชินกับความลึกจริงๆแล้วดีและทำง่ายมากนะครับ เพราะเราไม่ต้องกังวลกับการตีฟินเลย เรียกว่าเราควบคุมร่างกายได้เต็มที่(มีฟินบางครั้งทำให้เราตัวบิดไปบิดมาถ้าใช้ไม่เป็น)

วิธีฝึกก็ซ่อนๆอยู่ในทุกลักสูตรที่ครูสอนแหละครับ เช่น ฝึกให้ลงด้วยเชือก ลงด้วยจังหวะ หยุด.. เคลียร์หู 1 ครั้ง.. สาวเชือกลงซัก 2 ครั้ง.. หยุด.. ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ต้องการฝึก หรือหยุดร่างกายจัดตัวตรงที่ประมาณ 2-3เมตรก่อนหน้านั้น (อันนี้ควรตั้ง dive comp ให้เตือนระดับความลึกด้วย จะได้ไม่ต้องคิดเยอะ มีเสียงคอยเตือน)

ระหว่างการลงก็อย่าลืมนับจำนวนการสาวเชือก (arm strokes) ที่ลงไปที่ความลึกต่างๆด้วย ครั้งต่อไปจะได้มาคำนวณได้ว่า ลงด้วยตะกั่วกี่ลูก ที่ความลึกเท่าไหร่ และรอบต่อไป จะใช้กี่ลูก เลือกเอาว่าร่างกายเราจะเหมาะกับการปรับน้ำหนักตะกั่ว หรือ การเพิ่มจังหวะการสาวเชือกที่ความลึกต่างกัน

การลงลึกไม่ว่าจะแค่ 10เมตร หรือ 40เมตรไม่ใช่การพุ่งๆลงแล้วมันจะลงได้นะครับ

..ใจเย็นๆ ไปเรื่อยๆ ฝึกให้ถูกต้อง

เดี๋ยวก็ทำได้เองครับ

The Author is Freediver Instructor Trainer


about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page