top of page

เรื่องเล่าจากร่างกาย Life Below 16m.


ส่วนใหญ่มักจะมีแต่คนพูดถึงว่า freedive มันฟินอย่างไร ทำไมถึงต้องลอง ก็พอเข้าใจได้ครับ แต่มีอีกมุมหนึ่งที่ผู้ที่อยากฟรีไดฟ์แบบมือโปร หรือ อยากท้าทาย ทดสอบความสามารถตัวเองควรทราบ คือ ทะเลที่ลึกกว่า 10-16เมตร มีอะไรรอเราอยู่ แล้วร่างกายเรามีความพร้อมหรือไม่ครับ

ที่ความลึกเกินกว่าระดับ Freedive แบบสันทนาการ (recreational) หรือ อะไรที่ลึกเกิน 10-16m.ตามมาตรฐานของ PADI ระบบของร่างกายจะเกิด reversed effect หลายอย่าง เรียกได้ว่าที่ความกดดัน 2-3เท่าที่เกิดจากความลึกระดับนี้ ร่างกายคนเราทำงานไม่ปรกตินะครับ

เอ๊ะ แล้วมีอะไรบ้างที่เราควรรู้ล่ะ ..

..มีเยอะครับ... เล่าให้ฟังคร่าวๆได้ประมาณนี้

เรื่องใหญ่ก็มี การสูญเสียน้ำจากร่างกาย (dehydration) เพราะอะไร อธิบายไม่ยากครับ ปรกติร่างกายหายใจบนบกทั้งเข้าและออก ก็ไม่ได้เสียอะไรไป เพราะหายใจออกเอาน้ำออกไป ก็หายใจเข้าได้น้ำกลับมา แต่ถ้าเราลงไปซะลึก ความกดดันก็สูง(มาก) น้ำหรือของเหลวในร่างกายหาทางออกไม่ได้ ก็ไปกดอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะกระเพาะปัสสวะ และไต ทำให้ร่างกายเราต้องขับของเหลวมันออกมาโดยไม่รู้ตัว (diuresis) สังเกตมั้ยครับ แค่เรียนในสระก็ปวดปัสสวะบ่อยแล้วถ้าฟรีไดฟ์นานในที่ลึกหรือกลั้นใจนานในที่ตื้น (dynamic apnea)

การลงลึกยังทำให้เราใช้พลังงานมากขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น และก็เหนื่อยล้าขึ้น (Fatigue) พอเหนื่อย เริ่มร่างกายก็ขับเหงื่อออกมา แล้วการดำน้ำที่ความลึกมากจำเป็นต้องใส่ wetsuitหนาๆ (5-9mm) เพราะมันหนาว แล้วพอหนาว อุณหภูมิร่างกายลด ทำให้เลือดมันจะข้นกว่าปรกติ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนช้าลง (ก็เลือดมันข้นขึ้น แต่ขนาดเส้นเลือดกลับลดลงเพราะแรงดัน) ร่างกายก็ได้รับอ๊อกซิเจนจากเซลล์เม็ดเลือดแดงช้าลงไปอีก แต่เรื่องนี้สำหรับนักฟรีไดฟ์สายฮาร์ดคอร์เค้าถือเป็นเรื่องปรกตินะครับ เพราะการสูญเสียน้ำจากร่างกายเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของ MDR (Mammalian Dive Reflex) จึงต้องอดทนไว้ จะได้ลงได้นานลงได้ลึก จึงไม่แปลก ที่การเสียน้ำมากๆทำให้เวลาเราเราขึ้นสู่ผิวน้ำมักมีอาการ มึน งง แถมปากมีกลิ่น (แฮร่.. อย่าลืมพกน้ำยากบ้วนปากไปถ้าไปดำน้ำกับแฟน) วิธีแก้ไข ไม่ใช่การดื่มน้ำเยอะๆเหมือนก่อนลง SCUBA นะครับ แต่ให้ค่อยๆจิบๆน้ำก่อนลง เพราะยิ่งดื่มมาก ร่างกายก็ยิ่งขับออกมาเร็ว แล้วได้ที่ออกมามันคือการขับปัสสวะปนกับของเหลวอื่นที่มากกว่าปรกติ ก็จะกลายเป็นเสียน้ำมากเกินไปอีก

อีกเรื่องที่ควรระวัง คือ อาหารครับ อย่าไปกินเยอะก่อนลง ประมาณว่า ขอแค่เบาๆไว้ก่อน เพราะอาหารที่เราทานเข้าไป เมื่อร่างกายอยู่ในน้ำ ระบบการย่อยจะหยุดทำงานครับ แปลง่ายๆคือ อะไรอยู่ในท้องก่อนลง มันก็จะอยู่อย่างนั้นตลอด ส่งผลที่จะตามมาคือ อาการเรอ อาการอึดอัด (ก็เจอทั้งแรงกัดดันจากภายในภายนอก) ที่สุดแล้วพอขึ้นสู่ผิวน้ำก็เลี้ยงปลากันสนุกสนานสิครับ (ใครชอบซัดบุฟเฟ่ต์อาหารเช้ามาก่อนลงคงพอจะจำฟิลลิ่งนี้ได้)

อย่าไปกินอะไรเยอะก่อนลง ไม่ได้แปลว่า ห้ามกินเลยนะครับ เพราะการอดอาหารจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ พอน้ำตาลต่ำ เราก็จะยิ่งหิวจัด แล้วน้ำตาลต่ำก็ทำให้ความสามารถในการจดจำเรื่องต่างๆลดลง ยิ่งถ้าลงลึก หมุนตัวเร็วเกินไป มึน และหลงน้ำได้ง่ายๆเลยทีเดียว วิธีรับประทานให้ถูกคือ ทานโปรตีนนิดหน่อย (เช่น หมูปิ้งหน้าแสมสาร ซักครึ่งไม้นะ ไม่ใช่ทั้งห่อ) หรือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (อาหารพวกที่ย่อยได้ช้าๆ ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช โฮลวีต เมล็ดพืช ธัญพืช ไม่ใช่ปาท๋องโก๋จิ้มนมสังขยา ร้านปากซอยที่ท่าเรือ) ทั้งนี้และทั้งนั้น ทานนิดๆหน่อยๆ 2-3ชม.ก่อนลงดำน้ำลึกๆครับ

สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ถุงลมในปอดทำงานไม่เต็มที่อยู่แล้ว ลงยากครับ เหนื่อยง่าย ก๊าสพิษที่เกิดจากบุหรี่ที่เรียกว่า Carbon Monoxide จากการสูบบุหรี่จะไปเกาะ Hemoglobin ได้มากกว่าอ๊อกซิเจน ถึง 140 เท่า.. ไม่น่าจะฟรีไดฟ์ลึกๆได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนสูบบุหรี่จะฟรีไดฟ์ไม่ได้นะครับ แต่สูบก่อนลงนี่ไม่น่าจะไหว

สำหรับผู้ที่ดื่ม แอลกอฮอล์นอกจากจะทำให้สนุก เอ๊ย ทำให้เกิดอาการมึนในน้ำได้ ยังทำให้ช่องไซนัสเราอุดตัน ไม่แนะนำให้ดื่มอย่างน้อย 12ชม.ก่อนลงน้ำ เพราะลงลึกไม่ได้แน่นอน และยึ่งลึก ยิ่งเสี่ยง อธิบายไม่ยาก ว่าการลงลึกที่แรงกดดันสูงๆ โพรงอากาศ (Air Captivity) ที่ตันแล้วตันอีกจากอาการหวัดหรือเสมหะอาจจะล้างออกได้ด้วยน้ำเกลือก่อนลงน้ำ แต่การที่จมูกบวม ช่องหูบวม หรือลำคอบวม ผลของแอลกอฮอล์แบบนี้ ยังไงก็แก้ไม่ได้ครับ

สำหรับกลุ่มความดันต่ำ อันนี้อันตรายนะครับ ทั้งความดันต่ำเนื่องจากพักผ่อนน้อย และเป็นโรคประจำตัวความดันต่ำอยู่แล้ว พอลงไปต้องกลั้นหายใจ อาจจะ blackout ไปได้ง่ายไม่รู้ตัว เรียกว่าหัวใจขาดเลือดฉับพลันได้ง่าย อีกกลุ่มคือ ความดันสูงนิดหน่อย อันนี้กลับไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะการลงลึกๆเย็นๆ กลับทำให้เราลดระดับความดันในเลือดจากการหมุนเวียนที่เปลี่ยนไป

หลักสูตรฟรีไดฟ์สมัยใหม่ (modern Freediver course) ถูกออกแบบมาให้ใครๆก็ freedive ได้ แต่จะอยากพาตัวเองไปให้ไกลแค่ไหน

และ.. ไปเพื่ออะไร

..แอบคิดนิดนึง ก็ดีนะครับ

The Author is PADI Master Freediver Instructor


about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page