top of page

หลงทะเล : Lost in the Sea


เปล่านะครับ... นี่ไม่ใช่บทความเพื่อแสดงความรักใคร่หลงใหลในความงามของทะเลแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการ “หลง” ที่หมายถึง “หลง”จริงๆ ว่าด้วยการโดดตู้มลงไปใต้ทะเลแล้วหาทางกลับบ้านไม่ถูก ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยสำหรับนักดำน้ำหน้าใหม่ หรือแม้แต่จะเป็นหน้าเก่าแต่เกิดเออเร่อขึ้นมาก็มีสิทธิหลงได้เหมือนกัน และเลเวลการหลงทะเลของแต่ละรายก็ค่อนข้างฟรีสไตล์ ตั้งแต่หลงกันใต้ทะเล ไปจนถึงหลงกันเหนือผิวน้ำ

เมื่อเราลงไปใต้น้ำ สิ่งที่พึงทำเป็นอย่างยิ่งนอกเหนือไปจากทักษะการใช้อุปกรณ์ในการหายใจใต้น้ำให้เป็น การรักษาภาวะจมลอยของตัวเองแล้ว เราควรจะต้องสังเกตสังกาสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวไว้ให้มาก ตั้งแต่จุดที่เรือของเราจอดไว้ว่ามีอะไรเป็นหมุดหมายให้เรากลับมาถูกที่ ใต้ทะเลไม่เหมือนที่จอดรถในห้างที่มีเสา ABCD ไว้เตือนความจำนะครับ ลองเช็คดูซิ ว่ารอบๆตัวเรามีหินก้อนใหญ่ มีแนวปะการังหรืออะไรให้เราสามารถมาร์คจุดไว้ได้บ้าง ในความเป็นจริงเมื่อลงไปในน้ำแล้ว ถ้าคุณยังเป็นนักดำน้ำมือใหม่ พวกไดฟ์ลีดหรือครูสอนดำน้ำของคุณจะระวังให้ประมาณหนึ่งแล้วล่ะ เพราะมันเป็นหลักความปลอดภัยที่พวกเขาเรียนรู้มาว่าต้องดูแลนักดำน้ำในทริป แต่อย่างไรก็ดี ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนฉันใดก็ฉันนั้น การเป็นนักดำน้ำที่ดีต้องเรียนรู้ที่จะฝึกสัญชาตญาณเอาตัวรอดใต้น้ำของเราให้เฉียบคมเป็นสิ่งดีที่สุดครับ

ระหว่างดำน้ำแหวกว่าย ก็จะมีทั้งนักดำน้ำสายชิล เคลื่อนที่ช้าๆ ชมโน่นนี่นั่น นักดำน้ำสายซิ่ง ฉวัดเฉวียนไปทางนั้นทีทางนี้ทีเหมือนเด็กแว๊นซ์ และก็จะมีสายช่างภาพ พวกนี้ถ่ายภาพดะ เห็นอะไรทั้งคนทั้งปลา ถ่ายมันหมด สองแบบหลังนี้ถ้าระมัดระวังไว้บ้างก็ดีไป แต่กลัวใจว่าจะมัวแต่สาละวนดำซิ่งและถ่ายภาพจนหลุดกลุ่ม อันนี้ก็มีแนวโน้มจะหลงทะเลได้เหมือนกัน เพราะเพลิดไปกับความสนุกของการดำน้ำมากไปนิด จนลืมทางกลับเรือกันไปเลย

การมองเห็นใต้น้ำมันไม่เหมือนตอนเราอยู่บนบกนะครับ เมื่อเราอยู่ใต้น้ำ น้ำทะเลนั้นมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ 800 เท่า ทำให้เกิดการหักเหของแสงที่ผิดเพี้ยนไปจากบนบก ภาพที่เราเห็นใต้น้ำจึงมักจะใหญ่กว่าความเป็นจริงแม้ว่าเราจะสวมหน้ากากดำน้ำกั้นระหว่างดวงตาของเรากับน้ำทะเลแล้วก็ตาม นอกจากขนาดจะผิดเพี้ยนไปแล้ว สีสันก็ไม่เหมือนกับที่เราเห็นบนบกนะครับ เพราะแสงอาทิตย์นั้นประกอบด้วยสเปคตรัมสี 7 สี เมื่อแสงอาทิตย์ทะลุน้ำทะเลลงมา มวลน้ำได้ดูดซับเอาแสงไปในแต่ละชั้นความลึก โดยลำดับคือแสงสีแดงจะหายไปก่อนสีแรก ยิ่งดำลึกลงไปเรื่อยๆ สีก็จะหายไปทีละสีจนมืดมิดระดับแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงในที่สุด( ซึ่งลึกเลเวลนั้น ถ้านักดำน้ำจะลงไปถึงคงเป็นเรื่องของการศึกษาวิจัยทางทะเลมากกว่าจะดำน้ำเล่นเย็นๆ ใจแบบเราท่านนะครับ)

ใต้น้ำนั้น นอกจากตาเราจะเพี้ยน หูเราก็เพี้ยนครับ คนทั่วไปอาจจะคิดว่าอยู่ใต้น้ำ ไม่ได้ยินเสียง ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เสียงสามารถเดินทางผ่านน้ำได้ครับ เพียงแต่ว่าเสียงที่ได้ยินจะไม่เหมือนกับที่เราได้ยินเวลาเสียงเดินทางผ่านอากาศ ในความเป็นจริง นักดำน้ำเก่งๆ อาจจะพูดหรือส่งเสียงใต้น้ำให้คนอื่นในกลุ่มได้ยินได้ แต่จะรู้เรื่องหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่งครับ จริงๆ แล้วเสียงเดินทางในน้ำได้เร็วกว่าอากาศ ปัญหาคือหูมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ฟังเสียงในน้ำ ทำให้เราไม่สามารถหาแหล่งกำเนิดเสียงได้ถูก ยกตัวอย่าง ถ้านักดำน้ำ ก. ชมเชยนักดำน้ำ ข. ว่า “ข. ดำน้ำได้กากมาก” นักดำน้ำ ข. อาจจะไม่สามารถเช็คได้เลยว่า นักดำน้ำ ก. ค. ง. หรือ ฉ. เป็นคนเจริญพรใต้น้ำ (แล้วจะฟังเนื้อหารู้เรื่องหรือเปล่าต้องไปลุ้นกันเอง) เอาง่ายๆ คือ ถ้าจะสื่อสารใต้น้ำ นักดำน้ำเขาจะใช้ภาษามือสะดวกสุดครับ ไม่ก็ส่งเสียงเตือนด้วยการเคาะถังอะไรทำนองนี้ สะดวกกว่า

เพราะการรับรู้ของมนุษย์เราเมื่ออยู่ใต้น้ำมันจะไม่เต็มร้อยด้วยประการฉะนี้ การใช้สัญชาตญาณ สังเกตสิ่งรอบตัว พยายามอย่าห่างกลุ่ม หรือตีจากบัดดี้(ซึ่งจะเป็นคนที่ซัพพอร์ตเราเมื่ออยู่ใต้น้ำ) คือความปลอดภัยเบื้องต้นที่นักดำน้ำที่ดีต้องมีครับ เมื่อเราต้องลงไปอยู่ใต้น้ำ พยายามอย่าให้ตัวเองเสี่ยงกับการหลงทางเป็นดีที่สุดครับ

ดำน้ำจนเพลิดเพลินกันเสร็จสิ้น เมื่อถึงคราวจะขึ้น จำได้ไหมครับที่เตือนว่าเราต้องจำจุดที่เรือของเราจอดไว้ให้แม่นมั่น นอกเหนือจากจะจำจุดจอดเรือถูกแล้ว เมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำ กรุณาจำให้ได้ด้วยนะครับว่าเรือเราคือลำไหน นี่คือเรื่องฮาน้ำตาไหลของนักดำน้ำหลายรายกันเชียวนะครับ เพราะจุดดำน้ำแห่งหนึ่งไม่ได้มีแค่เรือเรากลุ่มเราที่ลงไปดำน้ำได้เสียเมื่อไร ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวนี้บางทีเรือจอดกันเต็มไปหมด แล้วเรือบางทีมันก็ดูคล้ายๆ กันสำหรับคนที่ไม่ได้มาดำน้ำบ่อยๆ นักดำน้ำหลายคนเคยเกิดเรื่องหน้าแตกขึ้นเรือผิดลำกันมาแล้ว ที่ร้ายกว่าคือ หลายครั้ง คนเรือก็จำนักดำน้ำของตัวเองไม่ซะด้วยซิครับ ความบันเทิงจึงบังเกิด บางกรุ๊ปเช็คคนกันจ้าละหวั่นว่าลูกทีมหาย หากันตาเหลือก สรุปว่าขึ้นเรือผิดลำซะงั้น เจอกันอีกทีอยู่บนฝั่งซะแล้ว

ถ้าจะ “หลงทะเล” แล้ว ให้หลงในความงามของทะเล ความสนุกของการดำน้ำก็พอนะครับ อย่าหลงทางในทะเลกันเลย ดูแลตัวเองไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องมีเรื่องระทึกใจแบบไม่จำเป็น ดำน้ำอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้วครับ อย่าต้องให้ตกใจตามหานักดำน้ำหายเลย เราดำน้ำเพื่อความสนุก ไม่เน้นเสี่ยงครับ


about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page