top of page

ขุ่นแม่นักดำน้ำ Sylvia Earle


ปัจจุบัน สาวๆ มาเรียนดำน้ำกันเยอะนะคะ สัดส่วนของนักเรียนดำน้ำชายหญิงในเมืองไทยนี่คือเท่าๆกันเลย แต่ในอดีต สมัยรุ่นตายาย การดำน้ำถูกมองว่าเป็นเรื่องอันตรายค่ะ ไม่ค่อยจะมีผู้หญิงมาเป็นนักดำน้ำกันหรอกเนอะ อย่าว่าแต่ดำน้ำเลย แค่ใส่ชุดบิกีนี่ลงทะเลนี่ก็อุ๊ยตายว้ายกรี๊ดกันไปทั้งบางแล้วมั้ง แต่มันก็ต้องมีหญิงแกร่งบางคนที่มุ่งมั่นจะแหกขนบประเพณีเพื่อทลายกำแพงสู่โลกใหม่อยู่ตลอดเวลานั่นล่ะ ผู้หญิงคนแรกของโลกที่กลายเป็นนักดำน้ำที่ทำบันทึกไว้คือ ดอตตี้ เฟรเซอร์ (Dottie Frazier) เธอเป็น Instructors หญิงคนแรกในปี 1955 แต่ชื่อเสียงของเธออาจจะไม่เปรี้ยงปร้างอลังการเท่ากับ ซิลเวีย เอิร์ล (Sylvia Earle) นักดำน้ำหญิงระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจ

ซิลเวีย เอิร์ล ถือว่ามีชื่อเสียงในระดับตำนานไม่ต่างไปจาก ฌาคส์ กุสโต เวอร์ชั่นผู้หญิง เพราะเป็นหนึ่งในนักดำน้ำที่จุดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลให้กับโลกรับรู้ในวงกว้าง แล้วทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อมหาสมุทรอย่างแท้จริง ตามตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ต้องเรียกเธอว่า นักสมุทรศาสตร์(Marine Biologist)

ขุ่นแม่ซิลเวีย เกิดปี 1935 ปัจจุบัน อายุได้ 82 ปีแล้ว (และยังคงดำน้ำตลอดเวลาเหมือนวัยไม่เคยเป็นปัญหาสำหรับเธอ) เธอเติบโตในเมืองชายทะเล และมีพ่อแม่ที่สนับสนุนให้ลูกได้อยู่กับโลกการเรียนรู้ของธรรมชาติภายนอกมากกว่ามุ่งมั่นไปทางวิชาการ แล้วความรักล้นใจที่ขุ่นแม่มีให้กับทะเลก็ทำให้ขุ่นแม่เรียนจบด็อกเตอร์และทำงานค้นคว้าสำรวจทางด้านทะเลเก็บสกอร์ความเชี่ยวชาญมาเรื่อยๆ แบบนอนสต็อป ทำงานด้านดำน้ำสำรวจมั่ง วิชาการมั่ง จนกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง Chief Scientist of the U.S. National Oceanic Atmospheric Administration(NOAA) และชื่อเสียงของขุ่นแม่ซิลเวียก็มาขจรขจายในวงกว้างในเวลาต่อมา(คือนางดังในกลุ่มดำน้ำอยู่แล้ว แต่นี่คือ Worldwide กับคนทั่วไป) เมื่อขุ่นแม่ไป Feat. กับองค์กร National Geographic ทำโปรเจ็คต์สำรวจกึ่งสารคดีชุด Mission Blues ระหว่างปี 1998-2002 เพื่อถ่ายทอดความน่าตื่นตะลึงของโลกใต้ทะเลรวมถึงสถิติอันน่าตกใจของความเสื่อมโทรมของมหาสมุทรในรอบไม่กี่สิบปีมานี้จากเงื้อมมือของมนุษย์ และทำๆไปชักมันส์มือ ขุ่นแม่ก็จัดตั้ง Mission Blues เป็นองค์กรการกุศลเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเลยมันซะเลย

ว่าด้วยเรื่องรางวัลการันตีคุณงามความดีของขุ่นแม่ซิลเวีย หรือ “Her Deepness” (ล้อเล่นกับคำว่า Her Highness) สมญาที่ได้จากการอุทิศตนเพื่อท้องทะเลมาทั้งชีวิตนี้ ขุ่นแม่ซิลเวียมีรางวัลเป็นกระบุงโกย แต่ถ้าจะเอาแบบฮิตๆ ท็อปๆ หน่อยก็จะมีการที่ Time Magazine ขึ้นชื่อให้เธอเป็นคนแรกของตำแหน่ง Hero of the Planet ในปี 1998 และ รางวัล TED Prize ปี 2009 ซึ่งจะมอบให้สำหรับผู้เป็นแรงบันดาลใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ซึ่งหลังจากที่ขึ้นรับรางวัลนี้ สิ่งที่ขุ่นแม่กล่าวอธิษฐาน ขอให้ทุกคนร่วมกันพิทักษ์หัวใจสีฟ้าของโลกไปพร้อมกันกับเธอ

ซิลเวีย เอิร์ลเคยให้สัมภาษณ์ว่า สมัยเด็กเธอเคยถูกคลื่นซัดจนจมน้ำ หายใจไม่ออก แต่พอทะลึ่งตัวขึ้นมาสู่ผิวน้ำได้ เธอบอกว่ามันเป็นความรู้สึกที่เจ๋งสุดๆ

แม่ก็คือแม่...

โลกรอผู้หญิงแกร่ง ให้มีความกล้าในทุกยุคสมัย

about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page