top of page

โลกของเด็ก (กับการดำน้ำ)


courtesy of NAUI Training Centre Western Australia; junior diver, skin diving

เด็ก คือนักคิดสร้างสรรค์และครีเอทีฟที่ทุกคนมองหา แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค้นพบครับ เด็กทุกคนมีบริบทของพลังความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป จินตนาการของเด็กเกิดจากการที่เราพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สังคม ช่วยกันสร้าง สนับสนุนบอกทางให้เค้าเดิน ช่วยสร้างกรอบบางๆให้เค้ามองเห็นและพินิจพิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง

ส่วนหนึ่งของข้อจำกัดในการการดำน้ำลึก คือความกลัวแบบผิดๆที่เกิดจากการสร้างจินตภาพจากความไม่รู้หรือความเหลื่อมล้ำจากความประสบการณ์ในมุมมองในชีวิตด้านอื่นของเราเองครับ ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าจากเพื่อนเกี่ยวกับการดำน้ำ ทีวี สารคดีสัตว์โลก สื่อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทะเลทั้งทางดีและความโหดร้ายของทะเล ที่จริงแล้ว ‘จินตภาพ’เหล่านี้ คือการสร้างภาพประกอบเองในสมอง ไม่ว่าจะเป็นความกลัวว่าจะจมน้ำรึเปล่าถ้าอยากดำน้ำแต่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือ เอ๊ะ..ถ้าดำที่เกาะนี้น้ำมันจะลึกไปมั้ย หรือ..ดำดิ่งลงไปแล้วข้างล่างจะไปเจออะไรน้อ หรือแม้แต่ อ้าว..ถ้าเราปะซึ่งๆหน้ากับฉลามล่ะ..มันจะกินเรารึเปล่านะ

‘จินตนาการ’เป็นตัวกำหนด ‘จินตภาพ’ ที่ถูกทิศถูกทางครับ การมีจินตนาการที่ดีก็เหมือนนักกีฬาที่เก่งซึ่งต้องเกิดจากการฝึกฝนและประสบการณ์ เช่น นักกอล์ฟมักวาดภาพในใจของผลการตีครั้งต่อไปไว้ล่วงหน้าเสมอ นักเล่นเทนนิสเห็นประโยชน์จากการมองคู่ต่อสู้ว่าวางตำแหน่งตัวเองไปทางไหนแล้วเราก็ตีไปในทิศทางตรงข้าม นักดำน้ำที่ดีก็ควรวางแผนในการดำน้ำให้สนุกและเลือกแผนหรือวิธีลักษณะของการดำน้ำที่เหมาะสมกับตัวเอง

เรื่องของจินตนาการกับการดำน้ำไม่มีการกำหนดอายุ แต่มีกรอบเพื่อความปลอดภัยไว้ครับ เด็กสามารถโลดแล่นไปกับจินตนาการตัวเองในโลกใต้น้ำได้ตั้ง 8ขวบ เริ่มที่อายุเท่านี้คืออายุที่เผอิญพอๆกับวัยที่เค้าสื่อสารได้ ดูแลตัวเองเป็น คิดวิเคราะห์เบื้องต้นได้ และเริ่มอยากจะค้นหาอะไรเป็นของตัวเอง ร่างกายของเด็กส่วนใหญ่ในวัยนี้ก็โตพอที่จะฝึกลงน้ำลึกได้ในระดับที่มีคุณครูคอยควบคุมดูแลให้ดำได้อย่างสนุกและปลอดภัย ประเด็นที่เราควรคิดถึงก่อนคือ ตัวน้องต้องอยากจะเล่นกีฬาชนิดนี้เอง การเริ่มต้นฝึกฝนเร็วกว่าคนในวัยเดียวกันก็มีข้อดีที่สามารถบอกได้ว่าน้องชอบหรือไม่ชอบกีฬาชนิดนี้ ที่สำคัญที่สุด การดำน้ำเป็นกีฬาที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องสามารถพึ่งพาตัวเอง การฝึกฝนและการเรียนดำน้ำสำหรับเด็กยิ่งเป็นการสร้างกรอบของความรับผิดชอบให้เด็กได้ฝึกฝนมากกว่าหรือพอๆกับกีฬาชนิดอื่น เป็นบททดสอบที่ดีระหว่างที่เค้าเรียนรู้ที่จะโตขึ้น

แต่เหรียญมีสองด้านเสมอครับ เรื่องที่เราต้องระวังในการฝึกการดำน้ำสำหรับน้องๆคือเรื่องการปรับความดันในหูหรือการ equalize น้องบางคนมีท่อต่อภายในหูที่เราเรียกว่า Eustachian tubes ระหว่างหูชั้นกลางเล็กไปด้วยการพัฒนาร่างกายของน้องแต่ละคนไม่เท่ากันอาจจะยังไปไม่ถึง ซึ่งทดสอบได้ก่อนการเรียน ก็อาจจะทำให้น้องเคลียร์หูได้ลำบากขึ้นนิดนึง อีกอย่าง หลายครั้งการฝึกฝนประคับประคองน้องๆต้องมีครูอดทนอดกลั้นมากครับ เพราะคำถามเค้าจะมาเยอะมาก (และเป็นคำถามที่ฉลาด อึ้ง ครูคาดไม่ถึงซะด้วย) ที่สำคัญอีกเรื่องคือ สภาพร่างกายของน้องกับการปรับความกดดันที่จะเกิดขึ้นจากการดำน้ำ ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย สำหรับผู้เขียนเอง แรงกดดันเหล่านี้ ก็เหมือนจินตภาพที่กล่าวข้างต้นครับ สร้างและพัฒนาเค้าให้ดี ก็ไม่ต่างกับการทำให้เค้าเรียนรู้สร้างจินตนาการได้ พัฒนาทักษะของการสังเกตุการณ์ ฝึกฝนกันไม่ถูกวิธี แนะนำอะไรผิด สิ่งที่น้องจะคิดก็ผิดไปจากความเป็นจริงที่เราอยากให้เค้ามองเห็น เค้าก็เลือกจะเห็นสิ่งต่างๆในมุมที่เค้าอยากจะมองเองเท่านั้น

การนึกคิดเป็นภาพในใจเป็นสิ่งสำคัญของเด็กในการเติบโตขึ้น เด็กที่มีการพัฒนาดีสามารถแยกแยะภาพหรือบริบทได้หลายมิติ หลายมุมมองได้ มีทักษะการคิดด้วยภาษาภาพในใจ และใช้มันอธิบายสิ่งต่างได้เพิ่มจากภาษาเขียน การดำน้ำจึงไม่ต่างกับกีฬาอื่นที่เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทักษะเหล่านั้นครับ แต่ที่ลึกไปกว่าท้องทะเลและกีฬาอื่นอีกนิด คือมุมเล็กๆของการฝึกฝนการดำน้ำที่เกี่ยวข้องกับการสร้างประสบการณ์ ความรับผิดชอบ วินัย สั่งสมความรู้สึกและความทรงจำที่ดีของโลกอีกใบนึงใต้ทะเล

โลกอีกด้าน ที่ผู้ใหญ่อยากจะสอนให้เค้ามองเห็นครับ

about him

A non-political traveler, a long-standing certified dive instructor, a pilot-in -training, an underwater photographer and most importantly a man who is still learning with himself on his own pace with growing number of deep sea interests.

bottom of page